top of page

ความรับผิดชอบต่อสังคม
Corporate Social Responsibility: CSR

นโยบายและแนวทางที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม

                บริษัทมีนโยบายการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจการ โดยคำนึงความสมดุลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ได้แก่ พนักงาน คู่ค้า ผู้ถือหุ้น สังคม และภาครัฐ ในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างยั่งยืน สามารถเติบโตได้โดยการเป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เป็นองค์กรที่สร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพและมีดุลยภาพทางด้านผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท นอกจากนั้นยังสร้างคนโดยการปลูกจิตสำนึกคนในองค์กรให้รู้จักการเสียสละไม่เอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้สอดคล้องในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
 

บริษัทมีนโยบายในการดำเนินกิจการโดยมุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคม แบ่งออกได้เป็น 5 ด้านดังต่อไปนี้

  1. การปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเป็นธรรม มีการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง

  2. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า

  3. การต่อต้านธุรกิจคอร์รัปชั่น 

  4. การตอบแทนต่อสังคม

  5. การเคารพสิทธิมนุษยชน

 

1.    การปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเป็นธรรม
บริษัทได้ให้ความสำคัญแก่พนักงานอย่างยิ่ง โดยคำนึงถึงว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดของบริษัท และเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทจึงให้การดูแลและมีการปฏิบัติที่เป็นธรรม ทั้งในด้านโอกาส ผลตอบแทน การแต่งตั้ง โยกย้าย และสวัสดิการที่เหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น

  1. ด้านการบริหารค่าจ้าง ผลตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ บริหารโดยคำนึงถึงหลักการจูงใจพนักงานให้พนักงานปฏิบัติงานเต็มความสามารถ มีความเป็นธรรม เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และมีระบบแบบแผนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร อัตราค่าตอบแทนรวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ จะต้องมีความเหมาะสมกับระดับหน้าที่ความรับผิดชอบสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ และอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้หรือเทียบเท่ากับอัตราค่าตอบแทนของบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน

  2. ด้านการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน บริษัทได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะของพนักงานทุกคนทุกตำแหน่งหน้าที่ โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรม การสัมมนา การดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานทุกระดับให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตาม มาตรฐานของผู้ผลิต โดยเฉพาะพนักงานฝ่ายวิศวกรทุกท่านจะต้องอบรมและผ่านการทดสอบอย่างสม่ำเสมอ

  3. ด้านการจ้างงาน การปฏิบัติงาน ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นมาตรฐาน ตั้งอยู่บนหลักการที่ไม่เลือกปฏิบัติและสอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีค่าตอบแทน (ค่าวิชาชีพ) ให้กับพนักงานวิศวกรที่ผ่านการรับรอง (Certify) ตามระเบียบบริษัท เพื่อเป็นแรงจูงใจในการตั้งใจทำงาน

  4. ด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในที่ทำงาน บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และสุขภาพของพนักงานทุกคนมีการตรวจสุขภาพประจำปี และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามระเบียบของของบริษัท กรณีเป็นผู้ป่วยในที่นอกเหนือไปจากประกันสังคม

  • มีการจัดกิจกรรม Team Building / Outing ให้พนักงานทุกระดับได้มีกิจกรรมร่วมกันทุกปี 

  • มีการสรุปแจ้งผลการประกอบกิจการให้พนักงานมีส่วนร่วมในภาพรวมของบริษัททุกๆ ครึ่งปี และให้พนักงานสามารถนำเสนอความคิดเห็นและแนวทางในการเติบโตของบริษัทได้อย่างเสรี

 

2.    ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
บริษัทให้ความสำคัญในการให้บริการแก่ลูกค้ามาเป็นอันดับแรก โดยนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการในต้นทุนราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม พร้อมคำแนะนำตามแนวทางวิชาชีพเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในสินค้าและบริการของบริษัท พร้อมกับเปิดรับคำติชม คำแนะนำของลูกค้าอย่างเปิดเผย เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังมีช่องทางภายนอกให้ผู้ติดต่อสามารถติดต่อผู้บริหารได้โดยตรงผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

 

3.    การต่อต้านธุรกิจคอร์รัปชั่น
บริษัทมีนโยบายการดำเนินกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคม สนับสนุนให้พนักงานของบริษัทปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรม จริยธรรมและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้คู่ค้าของบริษัทดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องด้วยความโปร่งใสด้วยเช่นกัน เพื่อให้สังคมโดยรวมดำเนินไปได้โดยสันติสุข เพื่อสร้างความมั่นใจว่านโยบายการต่อต้านการทุจริตและการติดสินบนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเพียงพอ พร้อมไปกับการสร้างจิตสำนึก ค่านิยม ทัศนคติที่ถูกต้องในทุกระดับ จัดให้มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล และระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่รับของกำนัล และไม่ติดสินบนทุกกรณี ทั้งนี้ บริษัท คู่ค้าได้มีการอบรมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี


บริษัทได้จัดทำนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti - Corruption Policy) เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของบริษัท ห้ามดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในรูปแบบใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท รวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยบริษัทกำหนดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดทางกฎหมาย โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว ดังนี้


คำนิยาม
การทุจริต (Corruption) หมายถึง การใช้อำนาจที่ได้มาหรือการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของผู้อื่น การทุจริตอาจเกิดได้หลายลักษณะ อาทิ การติดสินบนเจ้าพนักงานด้วยการชักชวน การเสนอ การให้ หรือการรับสินบน ทั้งที่เป็นเงินและสิ่งของ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การฉ้อฉล การฟอกเงิน การยักยอก การปกปิดข้อเท็จจริง การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การค้าภายใต้แรงอิทธิพล การทุจริตดังกล่าวมิได้หมายความถึงเพียงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงธุรกรรมระหว่างบุคคลหรือกิจการในระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเองด้วย

 

หน้าที่ความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

  2. คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

  3. กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบและให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดทางกฎหมาย เป็นต้น

  4. หน่วยงานตรวจสอบภายใน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ อำนาจดำเนินการ กฎหมาย และข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้มั่นในว่าบริษัทมีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

 

แนวปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชั่น

  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดจนไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท 

  2. ไม่กระทำหรือสนับสนุนการให้สินบน รวมทั้งควบคุมให้การบริจาค การให้ของขวัญทางธุรกิจ และการสนับสนุนกิจการต่างๆ มีความโปร่งใส และไม่มีเจตนาเพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือเอกชนดำเนินการไม่เหมาะสม

  3. เสริมสร้างให้พนักงาน คู่สัญญา และคู่ค้า ตระหนักถึงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น และการต่อต้านการทุจริต

  4. จัดให้มีระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสอบภายในที่เหมาะสม และมีประสิทธิผล เพื่อป้องกันการประพฤติมิชอบต่างๆ

  5. จัดให้มีแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการรับ การให้ของขวัญ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อมิให้เกิดช่องทางทุจริต หรือเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้เกี่ยวข้องอื่น ตลอดจนเพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยให้หลีกเลี่ยงการรับของขวัญ และ/หรือ ของกำนัล ซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัยจากผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัทหรือจากผู้อื่น ตลอดจนการหลีกเลี่ยงการรับเลี้ยงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัทหรือจากผู้อื่น ซึ่งอาจได้ประโยชน์จากการปฏิบัติงานของพนักงานของบริษัท

  6. ให้ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบในการปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยมีการจัดการอบรมเรื่อง การป้องกันและการจัดการกับการทุจริตให้แก่พนักงานใหม่ภายใน 90 วันนับจากวันเข้าทำงาน

  7. บริษัทได้กำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทโดยพลัน ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ทุจริตอย่างร้ายแรง มีการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ผิดปกติอื่น ซึ่งอาจกระทบต่อชื่อเสียงและฐานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

  8. ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชั่นและผู้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องจะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยตามกฎของบริษัท และได้รับโทษตามกฎหมาย โดยบริษัทจัดให้มีช่องทางการสื่อสารสำหรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต โดยพนักงานสามารถแจ้ง หรือรายงานเหตุการณ์ทุจริต หรือเหตุการณ์ที่น่าสงสัยว่าจะมีการทุจริตได้ในช่องตามที่กำหนดในประกาศของบริษัท โดยมีการกำหนดรายละเอียดความผิด สถานะความผิด และมาตรการลงโทษ รวมทั้งอาจได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย 

  9. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่แจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นเกี่ยวกับบริษัท เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของผู้รายงานหรือพยานเหตุการณ์ทุจริต

4.   การตอบแทนต่อสังคม

บริษัทตระหนักดีว่าในการดำเนินธุรกิจแม้กำไรจะเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่เอาเปรียบ ไม่สร้างความเดือดร้อน รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง โดยบริษัทได้กำหนดนโยบายด้านสังคมเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติงาน ดังนี้

  1. สนับสนุน ส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกให้ผู้บริหารและพนักงานของบริษัททุกระดับมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปฏิบัติตามนโยบายและกฎระเบียบ กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เช่น รณรงค์ ไม่ใช้กล่องโฟม ให้ใช้รถสาธารณะในการเดินทางมาปฏิบัติงาน เป็นต้น

  2. สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการคืนกำไรแก่สังคมอย่างสม่ำเสมอ โดยกิจกรรมที่จัดมีความเหมาะสม สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง เช่น การรับนักศึกษาใหม่ทางด้านไอที มาฝึกงานในทุกๆปี โดยยังจ่ายค่าตอบแทนให้ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างบุคลากรทางด้านไอที ให้ได้ คุณภาพ ตามมาตรฐาน

  3. จัดให้มีช่องทางสำหรับให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทและร้องเรียนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของบริษัทโดยผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

 

5.    การเคารพสิทธิมนุษยชน

  1. บริษัทดำเนินธุรกิจด้านไอที จึงมุ่งเน้นเรื่องการใช้ลิขสิทธิ์ ซอฟแวร์ อย่างถูกกฏหมาย ทั้งนี้ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในนโยบายด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ (IT Policy) และคู่มือปฏิบัติของพนักงานใหม่

  2. บริษัทมีนโยบาย เปิดกว้างในการรับพนักงานทุก ชาติ ศาสนา ใช้เกณฑ์กำหนดความรู้ ความสามารถเป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือกพนักงาน เนื่องจากบริษัทมีการขยายสาขาไปยังต่างประเทศ เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา เป็นต้น


6.    กิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR after process)

ที่ผ่านมาบริษัทมีการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  1. โครงการบริจาคอุปกรณ์การกีฬาแก่โรงเรียนที่ขาดแคลน ชื่อโครงการ “SPORTS FOR KIDS เพื่อคุณภาพชีวิตของน้อง” โดยเมื่อ     วันที่ 1 เมษายน 2559 กรรมการผู้จัดการและพนักงานของบริษัทได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาจำนวน 7 ชนิดกีฬา ให้แก่โรงเรียนบ้านบางบ่อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้เด็กนักเรียนมีโอกาสเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเสริมสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีและเจริญเติบโตสมวัย เป็นการส่งเสริมวิชาพลศึกษาของโรงเรียนให้เป็นไปตามแผนการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ สร้างลักษณะนิสัยให้นักเรียนมีน้ำใจนักกีฬาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่หมกมุ่นกับเกมส์ หรือยาเสพติด จึงมีโครงการบริจาคเครื่องกีฬาให้กับโรงเรียนเด็กเล็กระดับประถมศึกษาที่ขาดแคลนงบประมาณด้านอุปกรณ์กีฬา ครั้งละประมาณ 5 หมื่นบาท ทั้งนี้ โครงการนี้บริษัทอาจดำเนินการโดยตรงกับโรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือให้การสนับสนุนผ่านมูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลต่าง ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป

  2. การบริจาคเงินและสิ่งของให้กับมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิคนพิการทางสมอง มูลนิธิ เด็กอ่อนในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น

bottom of page